วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557

ตำแหน่งคันในสุนัขบอกโรคได้

ตำแหน่งคันในสุนัขบอกโรคได้






ขอขอบคุณข้อมูล
www.Doglike.com

ราคาของสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้

ราคาของสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้

          ราคาของสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้นั้น มีเริ่มตั้งแต่  5000 – 45000  บาท   โดยดูจากปัจจัยในหลาย ๆ ด้าน เช่น สีขน  สีตา  วัยของไซบีเรียน อาจจะเป็น ลูก วัยกลางๆ จนถึงโตเต็มวัย  โดยถ้าจะเอาแบบวูดลี่หรือขนยาว ก็จะอยู่ราคาประมาณ 25000 – 30000  บาท ดังนั้นเวลาที่จะเลือกซื้อสุนัขสายพันธุ์
ไซบีเรียนฮัสกี้ก็ควรดูปัจจัยแวดล้อมต่างๆ และหากมั่นใจว่าจะเลี้ยงพันธุ์นี้จริงๆก็ต้องดูความน่าเชื่อถือของร้านที่เราจะไปซื้อและดูลักษณะน้องหมาให้ดีๆด้วย




                                                         
                                                    

ขอขอบคุณข้อมูล

10 โรคต่าง ๆในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้

10 โรคต่าง ๆในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้




             หลายคนอาจมองภาพว่า สุนัขหน้าตาน่าเกรงขามราวกับหมาป่า อย่างน้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ คงเป็นสุนัขที่ดูไม่น่าจะเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรง่าย ๆ แต่เราก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า สุนัขทุกสายพันธุ์ต่างก็มีปัญหาสุขภาพหรือมีโรคประจำพันธุ์ด้วยกันทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป สุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ก็เช่นกัน ดังนั้น ... ผู้เลี้ยงหรือผู้ที่กำลังตัดสินใจจะเลี้ยงทุกคน จึงจำเป็นจะต้องทราบและเตรียมตัวรับมือกันเอาไว้ ... ซึ่งโรคเด่นที่น้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้มักเป็นกัน ก็ได้แก่
 
1. ภาวะ Zinc-responsive dermatosis


     ภาวะ Zinc-responsive dermatosis เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการที่ร่างกายดูดซึมแร่ธาตุสังกะสี (Zinc) ไปใช้ได้น้อยกว่าปกติ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขกลุ่ม Arctic breeds หรือ Northern breeds โดยเฉพาะกับสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน  ฮัสกี้ ตามปกติแล้วร่างกายของน้องหมาจะใช้ประโยชน์จากแร่ธาตุสังกะสีในหลาย ๆ ด้าน เช่น การสังเคราะห์โปรตีน การเจริญของเซลล์ การหายของแผล ใช้ในระบบสืบพันธุ์ ใช้ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ฯลฯ ซึ่งร่างกายน้องหมาจะดูดซึมแร่ธาตุสังกะสีที่ได้รับจากอาหารในส่วนของลำไส้เล็ก แต่ในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ จะมีปัญหาในการดูดซึมแร่ธาตุดังกล่าว รวมถึงการที่ร่างกายได้รับกรด phytic acid หรือ phytates จากอาหารที่มีธัญพืชสูงเกินไป ซึ่ง phytic acid เป็นตัวจับหรือคีเลต (Chelate) กับแร่ธาตุสังกะสี หรือได้รับอาหารที่มีแคลเซียมสูงมากเกินไป เพราะแคลเซียมจะไปขัดขวางการดูดซึมสังกะสีในลำไส้ จึงทำให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุสังกะสีลดลง
 


     อาการที่พบ คือ น้องหมาจะมีขนร่วง ผิวหนังอักเสบ ขนหยาบ มีสะเก็ด รังแค และผิวหนังหนาตัว บริเวณรอบตา รอบจมูก รอบปาก ขา ข้อศอก อวัยวะเพศ และอุ้งเท้า สุนัขบางตัวอาจจะมีอาการคันร่วมด้วย ถ้ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน มักพบได้ตั้งแต่อายุ 2-6 ปี หรือพบในช่วงที่สุนัขเป็นสัด เกิดความเครียด ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ หรือกำลังตั้งท้องอยู่ ในการวินิจฉัยคุณหมอจะใช้การตัดชิ้นเนื้อ (skin biopsy) ไปตรวจทางพยาธิวิทยา ส่วนการรักษาจะทำการเสริมสังกะสีในรูปแบบกินเข้าไป เช่น Zinc methionine (มีราคาแพง แต่ดูดซึมได้ดี) Zinc gluconate และ Zinc sulfate (มีราคาถูก แต่มีผลข้างเคียงทำให้อาเจียนได้) โดยจะเสริมให้กินทุกวันนาน 4-8 สัปดาห์ หรือบางรายอาจต้องได้รับไปตลอดชีวิตเลย

2. โรคกล่องเสียงเป็นอัมพาต (Laryngeal Paralysis)


     โรคกล่องเสียงเป็นอัมพาต เป็นโรคทางพันธุกรรมในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ พบได้ตั้งแต่ อายุ 2-6 เดือน จัดเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด (hereditary defect) เรียกว่า Congenital laryngeal paralysis เป็นผลมาจากกระดูกอ่อน (arytenoid cartilages) ของกล่องเสียง ไม่สามารถเปิดและปิดได้ตามปกติในระหว่างที่น้องหมาหายใจ เกิดการหย่อนตัวมาอุดกลั้นทางเดินหายใจส่วนต้นอาการที่พบ คือ สุนัขจะเห่าหรือไอเสียงเปลี่ยน หายใจเสียงดัง (เสียง stridor เสียงที่เกิดจากลมหายใจ ผ่านท่อทางเดินหายใจที่ตีบแคบ) หายใจเข้าลำบาก เหนื่อยง่าย บางครั้งหลังกินอาหารและน้ำ จะทำท่าขาก ๆ หรือสำลัก เหมือนมีอะไรติดคอ น้องหมาที่เป็นเจ้าของจะต้องคอยระมัดระวัง อย่าให้น้องหมาออกกำลังกายหนัก ๆ อยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง เกิดความเครียด เพราะจะหายใจไม่ทัน บางรายอาจใช้วิธีรักษาโดยการผ่าตัด และเนื่องจากเป็นการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมที่ควบคุมโดยยีนเด่นบนออโตโซม (autosomal dominant) ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การไม่นำพ่อและแม่พันธุ์ในตระกูลมีประวัติป่วยมาผสม
  
3. โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip Dysplasia)


     รคข้อสะโพกเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์ใหญ่ อย่างสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ก็เป็นอีกหนึ่งพันธุ์ที่มักจะเป็นโรคนี้เช่นกัน โรคข้อสะโพกเสื่อมจัดเป็นโรคทางพันธุกรรม ที่พบได้ทุกช่วงวัย บางรายพบได้ตั้งแต่อายุยังน้อยไม่ถึง 1 ปีก็มี โดยมีปัจจัยเสริม ได้แก่ ความอ้วน อยู่บนลื้น ๆ การเสริมแคลเซียมมากเกินไป สุนัขที่โตไวเกินไป ฯลฯ ความผิดปกติที่พบ คือ หัวข้อต่อของกระดูกต้นขาไม่สามารถสวมอยู่ในเบ้าสะโพกได้อย่างสนิท ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของน้องหมา ทำให้ลุกยืนลำบาก เคลื่อนไหวลำบาก บางตัวจะเจ็บปวด จึงไม่อยากลุกยืนหรือเดินเลยก็มี บางตัวอาจเดินท่าแปลก ๆ ให้เราเห็น
     ในการวินิจฉัยคุณหมอจะใช้การคลำตรวจข้อสะโพก สังเกตการยืน การเดิน และการวิ่งของน้องหมา จากนั้นจะทำการเอ็กซเรย์เพื่อดูโครงสร้างและความผิดปกติของข้อสะโพก ซึ่งใช้ประเมินความรุนแรงของโรค เพื่อวางแผนในการรักษาต่อไป 
ในการรักษานั้น จะใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นให้ยาลดปวดและลดอักเสบ การลดน้ำหนักตัว การทำกายภาพโดยเลือกวิธีที่ลดแรงกระทำกับข้อต่อ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เช่น การว่ายน้ำ การเดินหรือวิ่งบนลู่วิ่งใต้น้ำ ฯลฯ เพื่อช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อรองรับน้ำหนัก การเสริมสารอาหารบำรุงข้อต่อจำพวกกลูโคซามีนและคอนดรอยติน แต่สำหรับในรายที่เป็นรุนแรง คุณหมออาจพิจารณาทำการรักษาโดยการผ่าตัดรักษา
 


     การป้องกันโรคนี้ต้องเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ โดยไม่นำพ่อและแม่สุนัขที่ภายในตระกูลมีประวัติการเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมมาเป็นพ่อและแม่พันธุ์ ส่วนลูกที่เกิดมาแล้ว เราสามารถชะลอไม่ให้โรคเกิดเร็วขึ้น โดยการควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน หลีกเลี่ยงการอยู่บนพื้นลื่น ไม่เสริมแคลเซียมเกินความจำเป็น ไม่ยืนสองขาหลังหรือกระโดดขึ้นลงที่สูงเกินไปบ่อยๆ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ และหมั่นพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพของข้อสะโพกเป็นระยะๆ ทุก 6 เดือน เป็นอย่างน้อย
 
4. โรคข้อกระดูกอักเสบ (Osteoarthritis, Arthritis)


     โรคข้อกระดูกอักเสบหรือโรคข้อต่ออักเสบ บางครั้งเราอาจเรียกโรคนี้ว่า โรคข้อเสื่อม (Degenerative joint disease หรือ DJD) มักพบในสุนัขที่มีอายุมาก จากผลสำรวจของ Orthopedic foundation for animals ที่ได้ทำการสำรวจ Siberian Husky Health Survey พบว่าโรคข้ออักเสบ (Arthritis) นี้ เป็นโรคกระดูกและข้อต่อ (Orthopedic disorders) ที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มสำรวจสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ โดยโรคนี้จะส่งผลกับข้อต่อได้ทุกข้อ โดยเฉพาะข้อสะโพก ข้อศอก ข้อหัวไหล่ หรือแม้แต่ข้อกระดูกสันหลัง
    
 โดยอาการที่พบจะแตกต่างกันไปขึ้นกับว่าเกิดกับข้อต่อไหน ซึ่งน้องหมาจะเจ็บปวด ไม่อยากใช้ขา นั่งหรือนอนมากกว่าลุกเดิน ทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้ตามปกติ บางครั้งเดินยกขา เดินกะเผลก มีข้อบวม บางตัวอาจซึมลง มีไข้ จับคลำหรือยืดหดข้อแล้วเกิดเสียงกรอบแกรบ (crepitus sound) เป็นต้น คุณหมอจะทำการคลำตรวจร่วมกับการเอ็กซเรย์ เพื่อดูความผิดปกติบริเวณข้อ สำหรับการรักษาก็มีทั้งการรักษาทางยาและการผ่าตัด ร่วมกับการทำกายภาพ ลดน้ำหนัก และปรับอาหารเสริมสารบำรุงข้อต่อ เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดของโรคนี้ได้ใน 5 วิธีรับมือกับโรคข้อเสื่อมในสุนัขสูงวัย 

 
5. โรคไขสันหลังเสื่อม (Degenerative myelopathy)


     โรคไขสันหลังเสื่อมนี้พบได้บ่อยในสุนัขอายุมากกว่า 6-9 ปีขึ้นไป เกิดจากความเสื่อมของไขสันหลัง เยื่อหุ้มไมอีลิน และแอกซอน (axon) มักพบในตำแหน่งกระดูกสันหลังส่วนอก-สะโพก (thoracolumbar) ทำให้น้องหมามีอาการเดินเซ ขาหลังอ่อนแรง เดินลากขา จนกระทั่งเป็นอัมพาต สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด จากผลการศึกษาพบว่า การกลายพันธุ์ของยีน superoxide dismutase 1 (SOD1) อาจเป็นสาเหตุของโรคไขสันหลังเสื่อมในสุนัขได้
     ในการวินิจฉัยอาจเป็นเรื่องยากสักนิด ที่จะสรุปสาเหตุของโรคนี้ได้ในขั้นแรก คุณหมอจะทำการตรวจระบบประสาท และเอ็กซเรย์ เพื่อตัดสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลัง โรคมะเร็งและเนื้องอกในระบบประสาท โรคข้อเสื่อม ฯลฯ 
ในน้องหมาที่เป็นโรคนี้ จะทำได้แค่เพียงรักษาแบบประคองอาการ ร่วมกับการทำกายภาพ เพราะปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่จำเพาะ การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การไม่นำพ่อและแม่พันธุ์ในตระกูลมีประวัติป่วยด้วยโรคไขสันหลังเสื่อมมาผสม
  
 

6. โรคลมชัก (Epilepsy)

     โรคลมชักเป็นความผิดปกติของการนำกระแสไฟฟ้าในสมองส่วน cerebral cortex ทำให้ resting membrane potential ลดต่ำลงกว่าปกติ จึงถูกกระตุ้นได้ง่าย ผลคือกล้ามเนื้อเกิดการหดตัวเป็นชุดอย่างต่อเนื่อง อาการชักแบ่งออกได้เป็น  2 ชนิด คือ ชักแบบเฉพาะที่ (Partial seizure) เช่น หน้ากระตุก เคี้ยวปาก กลุ่มอาการไล่งับแมลง (Fly Snapping Syndrome) ฯลฯ และชักแบบทั้งตัว (Generalized seizure) อาการคือ ล้มลงนอนชัก ขาเหยียดเกร็ง ทำท่าเหมือนว่ายน้ำหรือปั่นจักรยานอากาศ กัดฟัน ไม่สามารถควบคุมปัสสาวะและอุจาระราดได้ ไม่รู้สึกตัวในขณะเกิดอาการชัก ฯลฯ สุนัขส่วนใหญ่มักเกิดอาการชักแบบทั้งตัวมากกว่า โดยอยู่ดี ๆ ก็เกิดขึ้นเองและหยุดไปเอง โดยระยะเวลาในการชักจะต่างกันไป แต่หากชักอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 5 นาที จะอันตรายมาก เพราะสมองจะขาดออกซิเจนได้  ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
 

     สุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้เป็นพันธุ์หนึ่งที่พบอุบัติการณ์เกิดโรคลมชักค่อนข้างสูง สาเหตุยังไม่แน่ชัดว่าเกิดจากพันธุกรรมหรือไม่ 
อาการชักยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคจากเชื้อไวรัส เช่น โรคไข้หัดสุนัข ฯลฯ มีน้ำตาลในเลือดต่ำ (พบบ่อยในลูกสุนัข) มีแคลเซียมในเลือดต่ำ (พบบ่อยในแม่หลังคลอด) เป็นโรคตับ เป็นโรคไตวาย ได้รับสารพิษ เช่น สตริกนิน ยาฆ่าแมลง ฯลฯ มีเนื้องอกในสมอง เป็นต้น  ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกัน แนะนำว่าไม่ควรนำสุนัขที่ป่วยเป็นโรคนี้โดยไม่ทราบสาเหตุมาใช้เป็นพ่อหรือแม่พันธุ์
   
  สำหรับน้องหมาที่ป่วยเป็นโรคลมชัก เจ้าของต้องหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ช่วงก่อนที่จะชักหรือระยะออร่า (Aura) น้องหมาจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป บางตัวหลบซ่อนตัว หอน ร้องคาง ตัวสั่น น้ำลายไหลมาก หรือดุขึ้น ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งเตือนเจ้าของว่าอีกไม่นานน้องหมาจะชักแน่นอน ในช่วงที่น้องหมากำลังแสดงอาการชัก เจ้าของต้องระมัดระวังอันตรายจากการที่ตัวหรือหัวน้องไปฟาดกับสิ่งของ คุณหมอจะให้ยาระงับชักในรูปสวนทวารมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน เจ้าของจะต้องระวังตัวเองด้วย เพราะน้องหมาที่ชักจะไม่รู้สึกตัว จึงอาจกัดเราได้ และหลังจากอาการชักสงบแล้ว น้องหมาอาจยังจำเจ้าของไม่ได้ บางตัวอาจซึมลง มึนงง เดินเซ และหายใจเร็ว ฯลฯ เจ้าของจึงต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

 

 
     น้องหมาที่เป็นโรคลมชักจะต้องได้รับยากิน เพื่อลดความรุนแรงและความถี่ของอาการชักลง 
โดยยาระงับชักนั้นมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไป เจ้าของต้องมีวินัยในการป้อนยาให้น้องหมาอย่างเคร่งคัด สม่ำเสมอ จะขาดไม่ได้เด็ดขาด ตลอดจนต้องหมั่นพาน้องหมาเข้ารับการตรวจวัดระดับยาในกระแสเลือด และตรวจประเมินค่าตับ ค่าไตเพื่อดูผลข้างเคียงจากยาเป็นระยะ ๆ ด้วย โรคลมชักเป็นโรคที่ต้องได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่องยาวนาน จะหยุดยาได้ก็ต่อเมื่อไม่พบอาการชักมาแล้วมากกว่า 1 ปี

 

7. โรคต้อกระจก (Cataracts)

     โรคต้อกระจกเป็นโรคตาที่สำคัญโรคหนึ่งในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ คำว่า Cataracts มาจากภาษากรีกที่สะกดว่า katarraktes แปลว่า น้ำตก เพราะในอดีตเข้าใจว่า เป็นของเหลวข้นจากสมองที่ไหลมาเคลือบหน้าเลนส์ตาไว้ตาจึงขุ่น โรคกระจกตาในน้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ส่วนใหญ่เกิดจากพันธุกรรม ถ่ายทอดผ่านยีนด้อย (Autosomal recessive gene) ซึ่งพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 3-12 เดือน จัดเป็นโรคต้อกระจกประเภท Juvenile cataracts หรือ hereditary cataracts จากรายงานการสำรวจของ The American College of Veterinary Ophthalmologists ในปี ค.ศ. 1999 พบสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ที่ป่วยด้วยโรคต้อกระจกมากถึง 8% (107 ตัว ใน 1345 ตัว)
 


      
ปกติเลนส์ตาจะทำหน้าที่หักเหแสงและโฟกัสภาพให้ตกยังจอประสาทตา เมื่อเลนส์ตาเกิดการขุ่นมัวขึ้น จะทำให้แสงผ่านไปได้น้อย การมองเห็นภาพจึงไม่ชัด คล้ายมีอะไรมาบดบัง ทำให้เห็นภาพพร่ามัวจนถึงขั้นมองไม่เห็นอะไรเลย เจ้าของจะสังเกตเห็นว่า เลนส์ตาของน้องหมาจะขุ่นขาวขึ้น บริเวณตรงกลางในตำแหน่งของตาดำ มักจะพบรอยโรคที่ส่วนขอบเลนส์ตาก่อน อาจเป็นแค่ตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ น้องหมาที่เป็นจะเดินชนสิ่งของ โดยเฉพาะบริเวณที่ไม่คุ้นชินมาก่อน มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป บางตัวอาจก้าวร้าวขึ้น หงุดหงิดและตกใจง่าย เนื่องจากมองไม่เห็น ดังนั้นการเข้าหาน้องหมาควรส่งเสียงให้เขารู้ตัวก่อน สำหรับการรักษาจะใช้การหยอดยาเพื่อชะลอการขุ่นของเลนส์ตา ส่วนรายที่มองไม่เห็นแล้ว อาจพิจารณาผ่าตัดเอาเลนส์ตาออก แล้วใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่
 


8. โรคต้อหิน (Glaucoma)

     โรคต้อหิน เป็นความผิดปกติของการไหลเวียนน้ำในช่องม่านตา ทำให้ความดันภายในลูกตาเพิ่มสูงขึ้น จนรู้สึกว่าดวงตาแข็ง ๆ คล้ายกับก้อนหิน ความดันภายในลูกตาน้องหมาปกติจะอยู่ที่ 16-30 มม.ปรอท ถ้าความดันลูกตาสูงมาก จะทำให้มีเลือดคั่งที่เยื่อตาขาว (ตาแดงจัด) กระจกตาบวมน้ำ (ตาสีฟ้า) เจ็บปวดลูกตา (น้องหมาจะเกาตาหรือเกาหน้าถู) รูม่านตาขยาย ลูกตาขยายใหญ่ (ตาโปน) มีน้ำตาไหลมาก จนอาจสูญเสียการมองเห็นได้ หากความดันลูกตาสูงมากกว่า 60 มม.ปรอท    
 


      
ในน้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้จะเป็นโรคต้อหิน ชนิดที่เป็นมาแต่กำเนิด (Congenital glaucoma) สามารถพบที่ตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ เกิดจากการผิดปกติของมุมขับออกของน้ำในช่องม่านตา (narrow/closed angle glaucoma) การตรวจวินิจฉัยจะใช้เครื่องวัดความดันลูกตา (Tonometer) รวมกับ Goniosope เพื่อตรวจดูช่องทางการระบายน้ำในช่องม่านตาออกว่าผิดปกติหรือไม่ การรักษามีใช้ทั้งทางยา ในกรณีที่เกิดอย่างเฉียบพลัน และการผ่าตัดในกรณีที่เป็นรุนแรงหรือเรื้อรัง หลักการ คือ เพื่อลดการสร้างและเพิ่มการระบายออกของน้ำในช่องม่านตา
 



9. โรคจอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy)

      จอประสาทตา (Retina) เป็นที่รับแสงและส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อประมวลผลออกมาเป็นภาพให้เห็น การเสื่อมของจอประสาทตาในน้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้นั้น เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดผ่านยีนบนโครโมโซมเพศ (โครโมโซม X) เรียกว่า X-linked trait จึงพบลักษณะเหล่านี้ในเพศผู้มากกว่าเพศเมีย เนื่องจากเพศผู้มีโครโมโซม X เพียงเส้นเดียว โดยเป็นการเสื่อมของเซลล์รับแสงตัวสำคัญทั้ง rod และ cone เกิดได้กับตาทั้งสองข้าง และมักจะลงเอยด้วยการตาบอดในที่สุด มักพบในสุนัขที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป เรียกความผิดปกติเช่นนี้ว่า Later onset -Progressive rod-cone degeneration
 


      
     สำหรับน้องหมาที่ป่วยด้วยโรคนี้ การสังเกตความผิดปกติที่ดวงตาในระยะเริ่มแรก อาจไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จึงเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า บอดตาใส ต่างกับโรคต้อกระจกที่เจ้าของจะสังเกตเห็นได้เลยว่าเลนส์ตาของน้องหมาจะเริ่มขุ่น สำหรับโรคจอประสาทตาเสื่อมเราอาจจะสังเกตพบว่า น้องหมาจะเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป มองไม่เห็นในเวลากลางคืน รูม่านตาขยายใหญ่กว่าปกติ ทำให้สังเกตเห็นว่าดวงตาน้องหมาวาวแสงมากขึ้น เป็นหนักเข้าจะเริ่มมองไม่เห็นในเวลากลางวัน เดินชนสิ่งของ ไม่กล้าเดินลงบันใด โดยอาการทั้งหมดจะค่อย ๆ พัฒนาไป จนสุดท้ายตาน้องหมาจะบอดสนิทภายในระยะเวลา 1 ปี
     
ในการวินิจฉัยคุณหมอผู้ชำนาญการด้านโรคตา จะทำการส่องตรวจตาด้วยกล้อง Ophthalmoscope ร่วมกับการตรวจดูคลื่นไฟฟ้าจอประสาทตา (Electroretinography) เพื่อดูการทำงานและตรวจหาความผิดปกติของจอประสาทตา ในต่างประเทศมีการพัฒนาชุดทดสอบทางพันธุกรรม (Genetic test หรือ DNA testing) เพื่อระบุน้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ที่อาจเป็นพาหะ (carrier) นำโรค และคัดกรองสุนัขที่เป็นไม่ให้นำมาใช้เป็นพ่อและแม่พันธุ์ต่อไป
 


      
ส่วนการรักษาในปัจจุบัน ทำได้แค่เพียงหยุดหรือชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาให้ช้าที่สุด โดยเสริมสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินต่าง ๆ เช่น Vitamin E, Vitamin C, lutein, Omega-3 fatty acids, beta carotene และ Zinc ซึ่งบางรายอาจรักษาไม่ได้เลย ถ้าโรคเป็นรุนแรงแล้ว  แต่น้องหมาก็จะปรับตัวได้ โดยใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่นที่เหลือซึ่งก็คือ การดมกลิ่นและการได้ยิน ซึ่งมีประสิทธิภาพดีจนเจ้าของบางคนอาจไม่รู้สึกเลยว่าน้องหมาได้เสียดวงตาไปแล้ว ยิ่งได้อยู่ในที่ที่คุ้นเคย ดังนั้นเจ้าของไม่ควรปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่น้องหมาอยู่บ่อย ๆ ระวังสิ่งกีดขวางที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับตัวน้องหมา กั้นบริเวณให้อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีระดับต่างกัน หากต้องพาไปในที่แห่งใหม่ต้องใส่สายจูงและมีเจ้าของอยู่ด้วยตลอดเวลา

 

10. โรคกระจกตาเสื่อม (Corneal Dystrophy)

      กระจกตาหรือตาดำ (cornea) เป็นส่วนประกอบชั้นนอกของลูกตา กระจกตาปกติควรมีความใส น้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ที่เป็นโรคกระจกตาเสื่อมจะมีการสะสมของไขมันจำพวกไตรกลีเซอรไลค์ในชั้น Epithelium หรือ Stoma ของกระจกตาเรียกว่า Corneal lipidosis หรือ Lipid keratopathy จึงทำให้กระจกตาขุ่น ขาว วาว คล้ายเกิดผลึกที่กระจกตา อาจพบได้ข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ มักพบในรายที่มีอายุมากและพบในเพศเมียมากกว่าเพศผู้
  


      
จากการศึกษาทางพันธุกรรมในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้พบว่าเกิดจากการถ่ายทอดผ่านยีนด้อย (recessive gene) ในรายงานการสำรวจของ The American College of Veterinary Ophthalmologists ในปี ค.ศ. 1999 พบสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ที่ป่วยด้วยโรคกระจกตาเสื่อมประมาณ 3% (44 ตัวจาก 1,345 ตัว) การรักษาส่วนใหญ่จะรักษาไปตามอาการ จุดประสงค์ก็เพื่อลดอาการและควบคุมการสะสมของไขมันที่กระจกตา อาจต้องจำกัดอาหารประเภทไขมัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีไขมันในเลือดสูงเกินไป สำหรับสุนัขที่เป็นป่วยเป็นโรคนี้ ไม่แนะนำให้ใช้เป็นพ่อหรือแม่พันธุ์ เพื่อป้องกันการเกิดโรคนี้ต่อไปยังรุ่นลูก
 



      
เป็นไงกันบ้างกับ 10 โรคเด่นในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ที่ มุมหมอหมา ได้นำเสนอไป อันที่จริงแล้วโรคที่พบได้บ่อยในน้องหมาพันธุ์นี้ยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น โรค Follicular dysplasia ที่เป็นความผิดปกติของการพัฒนาของ
รูขุมขน ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำผิดปกติ (Hypothyroidism) โรค Von Willebrand's disease (vWD) ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายขาด von Willebrand factor ทำให้มีปัญหาในการแข็งของเลือด หากมีบาดแผลเลือดจะหยุดยาก ตลอดจนโรคเนื้องอกและมะเร็งที่พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ เช่น เนื้องอกที่ลูกอัณฑะ (Testicular neoplasia) มะเร็งกระดูก (Osteosarcoma) มะเร็งของหลอดเลือด ( Hemangiosarcoma ) เป็นต้น

     ซึ่งทั้งหมดที่ นำมาเล่านี้ ก็เพื่อต้องการให้คนที่เลี้ยงหรือผู้ที่กำลังคิดจะเลี้ยง ได้ตระหนักและทำความเข้าใจ เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับโรคประจำพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้นได้กับน้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ของเรา ดังนั้นก่อนรับลูกหมามาเลี้ยงต้องตรวจดูให้ดีก่อน ขอดูใบประวัติครอบครัว ดูว่าเสี่ยงโรคประจำพันธุ์อะไรบ้าง จะได้หาทางรับมือและป้องกัน เพื่อชะลอไม่ให้เกิดโรคนั้นเร็วขึ้น โดยอาจขอคำแนะนำจากคุณหมอผู้ดูแลน้องหมาก็ได้

ขอขอบคุณข้อมูล


บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์

www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/
CriticalVetCare สมาชิก Youtube.com

สีตาของสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้

สีตาของสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้



 สำหรับสีของตาของไซบีเรียนนั้นจะแตกต่างสุนัขทั่วไป  และเป็นลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของไซบีเรียน เป็นสุนัขที่มีสีแตกต่างสามารถที่จะมีสีตาได้ข้างละสี อย่างเช่นสีฟ้าข้างหนึ่ง  สีน้ำตาลอีกข้าง  สีฟ้าที่ทำให้ดูแปลกตาดี  อันที่จริงแล้วสุนัขไซบีเรียนนั้นที่มีสีตาต่างๆ  เป็นเพราะว่าทางพันธุกรรมของสุนัขสายพันธุ์นี้บางตัวมียีนที่ควบคุมสีของตาโดยเฉพาะ  ซึ่งแตกต่างจากสุนัขสายพันธุ์อื่นๆ  ที่มียีนในการควบคุมสีทั้งหมดของร่างกายรวมกัน

ตาสีฟ้า

      



                ตาสีฟ้านั้นเป็นยีนเด่นของสุนัขสายพันธุ์นี้  จะเป็นสีที่สำคัญที่สุนัขทำให้แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ  จะเป็นสีที่แตกต่างจากสีของขนแต่จะมีความสัมพันธ์กันที่เห็นส่วนมากจะมีขนสีแข็งจะมีตาสีฟ้า  เป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมาจากพ่อ – แม่พันธุ์  ที่มียีนเด่นของตาสีฟ้า

ตาสีเหลืองอำพัน



                เกิดจากยีนที่ควบคุมสีต่างๆ ที่ร่างกายมีการถ่ายทอดสีมายังตา ส่วนมากไซบีเรียนที่มีตาสีนี้จะสีขนสีดำ  สีน้ำตาล  สีน้ำตาลเข้ม  และสีเหลืองอำพันมันจะมียีนของสีฟ้าอยู่ด้วยถึงทำให้ตาอีกข้างมักจะมีสีฟ้าด้วย

ตาสีน้ำตาล




                ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือว่าน้ำตาลเข้ม  ซึ่งสามารถที่จะถ่ายทอดจากสีน้ำตาลด้วยกันเอง  และจะถูกควรคุมของยีนด้วยการ  ปรับเปลี่ยนของยีนเอง  และยังส่งผลให้สีของขนด้วย  หากสุนัขมีตาอีกข้างเป็นสีฟ้าแสดงว่ายีนที่ควบคุมตาสีน้ำตาลนั้นสูญเสียไปอีกข้าง

ตาสีเหลือง

                                           

                เกิดจาการผสมของยีนที่ถ่ายทอดสีมาเกิดอ่อนลง  ทำให้สีน้ำตาลกลายเป็นสีเหลือง 
 ส่วนใหญ่มักพบกับตัวที่มีสี  ดำและสีเทา



                     




                เท่าที่ดูแล้วสุนัขที่พบเห็นในบ้านเราส่วนใหญ่นั้นไซบีเรียนจะมีสีฟ้าซึ่งเป็นความต้องการของตลอดและมีสีน้ำตาล  หรือว่าข้างละสี  ไม่ไช่เรื่องปกตืแต่อย่างใดเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมเท่านั้น  และตาสีฟ้าสามารถที่จะมองเห็นได้เท่ากับสีอื่นๆได้เช่นกัน































ขอขอบคุณข้อมูล

http://www.nupet.org/